การถือกำเนิดของ เอเธน่า นั้น กล่าวกันว่า ครั้งหนึ่ง ซูส ได้รับคำทำนายว่า
โอรสธิดาที่ประสูติแต่มเหสีเจ้าปัญญานาม มีทิส (Metis) นั้นจะมาโค่นบัลลังก์ของพระองค์
ไท้เธอก็แก้ปัญหาด้วยการจับเอามีทิสซึ่งทรงตั้งครรภ์แก่นั้นกลืนเข้าไปในท้อง
แต่เวลาไม่นานนัก ซูสบังเกิดอาการปวดเศียรขึ้นมา ให้รู้สึกปวดร้าวเป็นกำลัง
ไท้เธอจึงมีเทวโองการสั่งให้เรียกประชุมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัสให้ช่วยกันหาทางบำบัดเยียวยา
แต่ความอุสาหพยายามของทวยเทพก็ไม่เผล็ดผล ซูสไม่อาจทนความเจ็บปวดต่อไปได้
ในที่สุดจึงมีเทวบัญชาสั่งโอรสองค์หนึ่งของไท้เธอ คือ ฮีฟีสทัส (Hephaestus)
หรือ วัลแคน (Vulcan) ให้ใช้ขวานแล่งเศียรของไท้เธอออก
เทพฮีฟีสทัสปฏิบัติตาม เอาขวานจามลงไป ยังไม่ทันเศียรซูสจะแยกดี เทพีเอเธน่าก็ผุด
ขึ้นมาจากเศียรเทพบิดา ในลักษณะเจริญวัยเต็มที่แต่งฉลององค์หุ้มเกราะแวววาว
พร้อมสรรพ ถือหอกเป็นอาวุธ และประกาศ
ชัยชนะเป็นลำนำกัมปนาทเป็นที่พิศวงหวั่นหวาดแก่ทวยเทพเป็นที่สุด พร้อมกันนั้นทั่วพื้นพสุธาและมหาสมุทร
ก็บังเกิดอาการสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นอย่างใหญ่ ประกาศกำเนิดเทพีองค์นี้สนั่นไปทั้งโลก
การอุบัติของเทพีองค์นี้ถือว่าเป็นไปเพื่อยังสันติสุขให้บังเกิดในโลกและขจัดความโฉดเขลาที่ครองโลกจนตราบเท่าบัดนั้นให้สิ้นไป
ด้วยว่าพอเจ้าแม่ผุดจากเศียรซูส เทพีแห่งความโฉดเขลาซึ่งไม่ปรากฏรูปก็ล่าหนีให้เจ้าแม่เข้าครองแทนที่
ด้วยเหตุนี้เทพีเอเธน่าจึงเป็นที่นับถือบูชาในฐานะเทพีครองปัญญา นอกจากนั้น
เจ้าแม่ยังมีฝีมือในการเย็บปักถักร้อย และการยุทธศิลปป้องกันบ้านเมือง
ภายหลังการอุบัติของเจ้าแม่เอเธน่าไม่นาน
มีหัวหน้าชนชาวฟีนิเชียคนหนึ่งชื่อว่า ซีครอบส์ (Cecrop) พาบริษัทบริวารอพยพเข้าไปในประเทศกรีซ
เลือกได้ชัยภูมิอันตระการตาแห่งหนึ่งในแคว้น อัตติกะ (Attica) ตั้งภูมิลำเนาก่อสร้างบ้านเรือนขึ้นเป็นนครอันสวยงามนครหนึ่ง เทพทั้งปวงเฝ้าดูงานสร้างเมืองนี้ด้วยความเลื่อมใสยิ่ง
ในที่สุดเมื่อเห็นว่าเมืองมีเค้าจะกลายเป็นนครอันน่าอยู่ขึ้นมาแล้ว
เทพแต่ละองค์ต่างก็แสดงความปรารถนาใคร่จะได้เอกสิทธิ์ประสาทชื่อนคร
จึงประชุมกันถกถึงเรื่องนี้ เมื่อมีการอภิปรายโต้แย้งกันพอสมควรแล้ว
เทพส่วนใหญ่ในที่ประชุมก็พากันยอมสละสิทธิ์ คงเหลือแต่เทพโปเซดอนและเทพีเอเธน่า 2
องค์เท่านั้นยังแก่งแย่งกันอยู่
เพื่อยุติปัญหาว่าใครควรจะได้เอกสิทธิ์ประสาทชื่อนคร เทพซูสไม่พึงประสงค์จะชี้ขาดโดยอำนาจตุลาการที่ไท้เธอจะพึงใช้ได้ด้วยเกรงว่าจะเป็นที่ครหาว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ไท้เธอจึงมีเทวโองการว่านครนั้นพึงอยู่ในความคุ้มครองของเทพหรือเทพี
ซึ่งสามารถเนรมิตของที่มีประโยชน์ที่สุดให้มนุษย์ใช้ได้ และมอบหน้าที่ตัดสินชี้ขาดให้แก่ที่ประชุม
เทพโปเซดอนเป็นฝ่ายเนรมิตก่อน เธอยกตรีศูลคู่หัตถ์ขึ้นกระแทกลงกับพื้น
บันดาลให้มีม้าลำยองตัวหนึ่งผุดขึ้นท่ามกลางเสียงแสดงความพิศวงและชื่นชมของเหล่าเทพ
เมื่อเทพผู้เนรมิตม้าอธิบายคุณประโยชน์ของม้าให้เป็นที่ตระหนักแก่เทพ ทั้งปวงแล้ว
เทพต่างองค์ต่างก็คิดเห็นว่า เทพีเอเธน่าคงไม่สามารถเอาชนะเนปจูนเสียเป็นแน่แล้ว
ถึงกับพากันแย้มศรวลด้วยเสียงอันดังแกมเย้ยหยันเอาเสียด้วย
เมื่อเจ้าแม่เอเธน่าเนรมิตต้นมะกอกต้นหนึ่งขึ้นมา แต่ครั้นเจ้าแม่อธิบายถึงคุณประโยชน์ของต้นมะกอกที่มนุษย์จะเอาไปใช้ได้นานัปการนับตั้งแต่ใช้เนื้อไม้
ผล กิ่งก้าน ไปจนใบ กับซ้ำว่ามะกอกยังเป็นเครื่องหมายถึงสันติภาพและความรุ่งเรืองวัฒนาอีกด้วย
และเพราะฉะนั้นจึงเป็นที่พึงประสงค์ยิ่งกว่าม้าซึ่งเป็นเครื่องหมายของสงครามดังนี้
มวลเทพก็เห็นพ้องต้องกันว่า ของที่เจ้าแม่เอเธน่าเนรมิตมีประโยชน์กว่า
จึงลงมติตัดสินชี้ขาดให้เจ้าแม่เป็นฝ่าย ชนะ
เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงชัยชนะครังนี้
เจ้าแม่เอเธน่าได้ประสาทชื่อนครนั้น ตามนามของเจ้าแม่เองว่า เอเธนส์ (Athens) และสืบจากนั้นมาชาวกรุงเอเธนส์ก็นับถือบูชาเจ้าแม่ในฐานะเทพีผู้ปกครองนครของเขาอย่างแน่นแฟ้น
ตามที่อ่านกันมานั้น
เห็นได้ว่าเรื่องนี้ใช่จะแสดงตำนานที่มาของชื่อกรุงเอเธนส์เท่านั้นไม่
หากยังเป็นตำนานกำเนิดของม้าในเทพปกรณัมกรีก และเป็นต้นเรื่องของการที่ชาวตะวันตกถือว่าช่อมะกอกเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพสืบๆ
กันมาจนตราบทุกวันนี้
ยังมีอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเทพีเอเธน่า
แสดงที่มาหรือกำเนิดของสิ่งธรรมชาติสนองความอยากรู้ของคนโบราณดังจะ เล่าต่อไปนี้
ในประเทศกรีซสมัยดึกดำบรรพกาลโพ้น มีดรุณีน้อยคนหนึ่งประกอบด้วยรูปโฉมสะคราญตาน่าพิสมัยยิ่ง
จนถึงแก่ว่าถ้านางไม่มีความหยิ่งผยองในฝีมือทอผ้าและปั่นด้ายเป็นยอดเยี่ยมเสียอย่างเดียวเท่านั้น
นางก็คงจะเป็นที่รักของเทพและมนุษย์ทั้งมวลอย่างไม่ต้องสงสัย
นางมีชื่อว่า อาแรคนี (Arachne) ด้วยความลุ่มหลงทะนงตนนางสำคัญว่าไม่มีผู้ใดอีกแล้วจะมี
ฝีมือเสมอกับนาง ในที่สุดจึงกำเริบถึงแก่คุยฟุ้งเฟื่องไปว่า ถึงเจ้าแม่เอเธน่าจะลงมาประกวดฝีมือกับเธอ
นางก็ยินดีจะขันสู้ไม่รอช้าเลย นางโอ้อวดดังนี้เนืองๆ จนเจ้าแม่เอเธน่าสุดแสนจะทนรำคาญต่อไปได้
ต้องลงมาจากเขาโอลิมปัสเพื่อลงโทษนางอาแรคนีมิให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป
เจ้าแม่จำแลงองค์เป็นยายแก่ เดินเข้าไปในบ้านของนางอาแรคนี
และนั่งลงชวนคุย ชั่วประเดี๋ยวเดียวนางแน่งน้อยก็จับคุยถึงฝีมือตน
และเริ่มโวเรื่องจะแข่งขันประกวดฝีมือกับเจ้าแม่เอเธน่าอีก เจ้าแม่ตักเตือนโดยละม่อมให้นางยับยั้งคำไว้เสียบ้าง
เตือนว่าคำของนางซึ่งพูดเอาเองเป็นเหตุให้เทพเจ้าขัดเคืองจะทำให้นางเคราะห์ร้าย
แต่นางอาแรคนีมีจิตมืดมนมัวเมาไปในความทรนงตนเสียแล้วจนไม่แยแสต่อคำตักเตือน
กลับพูดสำทับว่า นางอยากให้เจ้าแม่ได้ยินและลงมาท้าประกวดฝีมือเสียด้วยซ้ำ
นางจะได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อพิสูจน์ว่า
คำกล่าวอ้างของนางเป็นความจริงเพียงใด ไม่ใช่พูดเอาเอง คำหยาบหยามนี้ยั่วโมสะเจ้าแม่ถึงขีดสุด
ถึงกับสำแดงองค์ให้ปรากฏแก่อาแรคนีตามจริงและรับคำท้านั้นทันที
ทั้ง 2 ฝ่ายจัดแจงตั้งหูก แล้วต่างฝ่ายต่างทอลายผ้าอันงามวิจิตรขึ้น
เทพีเอเธน่าเลือกเอาภาพตอนเจ้าแม่แข่งขันกับเทพโปเซดอน
ส่วนนางอาแรคนีเลือกเอาภาพซูส ลักพานางยูโรปาเป็นลาย ครั้นทอเสร็จ
ต่างฝ่ายต่างเอาลายผ้ามาเทียบเคียงกัน สาวเจ้าอาแรคนีรู้สึกทันทีว่าของนางแพ้หลุดลุ่ย
ลายรูปโคโลดแล่นลุยไปในทะเล มีคลื่นซัดสาดออกเป็นฟองฝอยกับนางยูโรปาเกาะเขาอยู่ดูอาการกึ่งยิ้มกึ่งตกใจประกอบด้วยเกศาและผ้าสไบปลิวสยายด้วยแรงลม
ไม่สามารถจะเทียบกับลายรูปชมรมทวยเทพพร้อมด้วยรูปม้าและต้นมะกอกเนรมิต
ซึ่งดูประหนึ่งมีชีวิตกระดุกกระดิกได้นั้นเลย อาแรคนีแน่งน้อยเสียใจนัก
ทั้งเจ็บทั้งอายในความผิดพลาดของตนไม่อาจทนอยู่ได้ เอาเชือกผูกคอหมายจะแขวนตัวตาย
เจ้าแม่เอเธน่าเห็นนางจะด่วนหนีโทษทัณฑ์ไปดังนั้น จึงรีบแปรเปลี่ยนร่างของนางให้กลายเป็นแมงมุมห้อยโหนโตงเตง
กับสาปนางให้ต้องปั่นและทอใยเรื่อยไปไม่มีเวลาหยุด
เป็นการเตือนมนุษย์ผู้ทรนงทั้งปวงมิให้หลงไปว่าตนอาจจะเทียมเทพไดเป็นอันขาด
ตามปกติเทพีเอเธน่าประทับอยู่เคียงข้างซูสเทพบิดามิได้ขาด
ด้วยซูสมักจะโปรดหารือฟังความเห็น คำแนะนำอันแยบคายของเจ้าแม่เนืองๆ
ยามมีศึกสงครามเกิดขึ้นในโลกเจ้าแม่ขอประทานยืมโล่อันพึงสยบสยอนของเทพบิดาสพายลงมาสนับสนุนฝ่ายที่มีเหตุผลอันชอบธรรมในการสงครามเป็นนิตย์
ดังเช่น สงครามกรุงทรอยอันลือลั่นนั้น เอเธน่าก็เข้าร่วมด้วยโดยยืนอยู่ข้างฝ่ายกรีก
ในขณะที่เทพองค์อื่นๆ เช่น เทพีอโฟร์ไดท์กับเทพเอเรสเข้าข้างฝ่ายทรอย
เรื่องราวความสามารถในการสงครามของ เทพีเอเธน่าจึงทำให้เจ้าแม่กลายเป็นเทพีอุปถัมภ์ของบรรดานักรบ
อีกอย่างหนึ่งด้วย วีรบุรุษคนสำคัญๆ จะไม่เกิดขึ้นหากขาดความช่วยเหลือของเจ้าแม่
เอเธน่าเคยช่วยเฮอร์คิวลิสในการทำงาน 12 อย่างตามคำสั่งของเทพีฮีร่า เคยช่วยเพอร์เซอุสสังหารนางการ์กอนเมดูซ่า
ช่วยโอดีสซีอุส (หรือยูลิซิส) ให้เดินทางกลับบ้านจากยุทธภูมิทรอยอย่างปลอดภัย
กับทั้งยังช่วยเหลือเตเลมาคัส บุตรชายของโอดีสซีอุสให้ตามหาพ่อจนสำเร็จ
ชาวกรีกนับถือเจ้าแม่อย่างแพร่หลายอยู่มาก ถึงกับสร้างวิหารและที่บูชาอุทิศถวายเจ้าแม่ไว้
เป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วน ที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ วิหารพาร์ธีนอน ณ กรุงเอเธนส์
ซึ่งเดี๋ยวนี้เหลือแต่ซาก แต่ก็ยังมีเค้าของฝีมือก่อสร้างอย่างวิจิตรพิสดารปรากฏอยู่ให้เห็น
นอกจากชื่อเอเธน่าหรือมิเนอร์วาแล้ว ชาวกรีกและโรมันยังรู้จักเจ้าแม่ในชื่ออื่นๆ
อีกหลายชื่อ ในจำนวนนี้มีชื่อที่แพร่หลายกว่าเพื่อนได้แก่ พัลลัส (Pallas) จนบางทีเขาเรียกควบกับชื่อเดิมว่า
พัลลัสเอเธน่า ก็มี ว่ากันว่ามูลเหตุของชื่อนี้สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมตอนเจ้าแม่ปราบยักษ์ชื่อ
พัลลัส ซึ่งไม่ปรากฏตำนานชัดแจ้ง อาศัยเหตุที่เจ้าแม่ถลกหนังยักษ์มาคลุมองค์
คนทั้งหลายเลยพลอยเรียกเจ้าแม่ในชื่อของยักษ์นั้นด้วย และเรียกรูปประติมา หรืออนุสาวรีย์อันเป็นเครื่องหมายถึงเจ้าแม่ว่า
พัลเลเดียม (Palladium) ในที่สุดคำว่า Palladium ก็มีที่ใช้ในภาษาอังกฤษถึงภาวะหรือปัจจัยที่อำนวยความคุ้มครองหรือความปลอดภัยให้เกิดแก่ชุมชน
ทำนอง Palladium ที่ชาวโรมันอารักขาไว้ในวิหารเวสตาฉะนั้น
เกี่ยวกับการครองความบริสุทธิ์ของเจ้าแม่ มีเรื่องเล่าว่า
เทพฮีฟีสทัสหมายปองเจ้าแม่ใคร่จะได้วิวาห์ด้วย ได้ทูลขอต่อเทพบิดา
เทพบิดาประทานโปรดอนุญาต แต่ให้ฮีฟีทัสทาบทามความสมัครใจของเจ้าแม่เอาเอง
เทพฮีฟีทัสไปทำรุ่มร่ามเข้าอย่างไรไม่ปรากฏ เจ้าแม่ไม่เออออด้วย
ในที่สุดฮีฟีสทัสก็เดินแบบเจ้าชู้ยักษ์ หมายจะรวบรัด ในระหว่างการฉุกละหุกอุตลุดนั้นของไม่บริสุทธิ์ของฮีฟีทัสตกลงมายังพื้นโลก
เป็นเหตุให้เกิดทารกผุดขึ้นมาเป็นเพศชาย เจ้าแม่รอดพ้นมลทินแปดเปื้อน แต่รับทารกไว้ในปกครอง
เอาทารกบรรจุหีบให้งูเฝ้า และฝากไว้ให้ลูกสาวท้าวซีครอปส์ดูแล โดยห้ามเด็ดขาดมิให้เปิดหีบดู
แต่ลูกสาวท้าวซีครอปส์ไม่เชื่อฟัง พยายามจะเปิดหีบ ครั้นเห็นงูเข้าก็ตกใจวิ่งหนีตกเขาตาย
ทารกนั้นได้ขนาน ชื่อว่า อิริคโธเนียส (Erichthonius) และดำรงชีวิตอยู่สืบมาจนภายหลัง
ได้ครองกรุงเอเธนส์ ส่วนเจ้าแม่เอเธน่าก็ไม่ได้รับการเกี้ยวพานของเทพองค์หนึ่งองค์ใดอีกต่อไปตั้งแต่บัดนั้น
แม้ว่าจะมีบางตำนานกล่าวว่าเอเธน่าเคยแอบรักบุรุษรูปงามคนหนึ่งชื่อว่า เบลเลอโรฟอน
จนถึงกับเอาอานม้าทองคำมาให้เขาในความฝัน เนื่องจากเบลเลอโรฟอนต้องการขี่ม้าวิเศษ
เปกาซัส
แต่ไม่ปรากฏว่าเจ้าแม่ได้สานเรื่องราวระหว่างเจ้าแม่กับเบลเลอโรฟอนต่อไปแต่อย่างใด
แต่ทว่าบุรุษหนุ่มผู้นั้นเสียอีกที่เกิดตกม้าตายในตอนหลัง เทพีเอเธน่ามีต้นโอลีฟเป็นพฤกษาประจำตัว
และนกฮูกเป็นนกคู่ใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น