เทวีองค์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากที่สุดได้แก่เทวี อโฟรไดที่
(Aphrodite) หรือ วีนัส
(Venus) ซึ่งงเป็นเจ้าแม่ครองความรักและความงาม
สามารถสะกดเทพและมนุษย์ทั้งปวงให้ลุ่มหลง
ทั้งอาจจะลบสติปัญญาของผู้ฉลาดให้ตกอยู่ในความโฉดเขลาไปได้
และเจ้าแม่จะคอยหัวเราะเยาะบรรดาผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเย้ายวนของเจ้าแม่ร่ำไป
หากจะสืบสาวต้นกำเนิดของอโฟร์ไดที่ อาจต้องสืบสาวไปไกลกว่าตำนานของกรีกเสียอีก
เนื่องจากเจ้าแม่มีต้นกำเนิดมาจากดินแดนซีกโลกตะวันออก
ว่ากันว่าเจ้าแม่เป็นเทวีองค์แรกเริ่มของชนชาติฟีนีเซีย ที่มาตั้งอาณานิคมมากมายในดินแดนตะวันออกแถบตะวันออกกลาง
ทราบกันมาว่าเจ้าแม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทวีของชาวอัสสิเรียกับบาบิโลเนีย
ที่มีนามว่า อีชตาร์ (Ishtar) และก็ยังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทวีของชาวไซโร-ฟีนิเซี่ยน
ผู้มีนามกรว่า แอสตาร์เต (Astarte) จึงนับได้ว่าเป็น
เทวีที่มีความสำคัญมากมาแต่ดึกดำบรรพ์
ตามมหากาพย์อิเลียดของโฮเมอร์ เทวีอโฟรไดที่เป็นเทพธิดาของซูส
เกิดกับนางอัปสร ไดโอนี (Dione) แต่บทกวีนิพนธ์ชั้นหลังๆ กล่าวว่า
เจ้าแม่ผุดขึ้นจากฟองทะเล เนื่องจากคำว่า Aphros อันเป็นที่มาของชื่อเจ้าแม่ใน
ภาษากรีกแปลว่า "ฟอง" แหล่งกำเนิดของเจ้าแม่อยู่ในทะเลแถวๆ เกาะไซเธอรา
(Cythera) จากนั้น เจ้าแม่ถูกคลื่นซัดไปจนถึงเกาะ ไซพรัส (Cyprus)
อาศัยเหตุนี้
เกาะทั้งสองจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเจ้าแม่ และบางทีเจ้าแม่ก็มีชื่อเรียกตามชื่อเกาะทั้งสองนี้ว่า
ไซเธอเรีย (Cytherea) และไซเพรียน (Cyprian)
ตามเรื่องที่เล่ากันแพร่หลายกล่าวว่า
เมื่อเทวีอโฟรไดทีถูกคลื่นซัดไปติด ณ เกาะไซพรัสนั้น ฤดูเทวีผู้รักษาทวารแห่งเขาโอลิมปัสลงมารับพาเจ้าแม่ขึ้นไปยังเทพสภา
เทพทุกคนในที่นั้นต่างตะลึงในความงามของเจ้าแม่ และต่างองค์ต่างก็อยากได้เจ้าแม่เป็นคู่ครอง
แม้แต่ซูสเองก็อยากจะได้ แต่เจ้าแม่ไม่ยินดีด้วย ไท้เธอจึงโปรดประทานเจ้าแม่ให้แก่
ฮีฟีสทัส (Hephaestus)
เทพรูปทรามผู้มีบาทอัน แปเป๋เป็นบำเหน็จรางวัลทดแทนความชอบในการที่ฮีฟีสทัสประกอบอสนียบาตถวายและเป็นการลงโทษเจ้าแม่ในเหตุที่ไม่ไยดีซูสไปในตัวด้วย
แต่เทพองค์แรกที่เจ้าแม่พิศวาสและร่วมอภิรมย์ด้วยคือ เอรีส (Ares) หรือ มาร์ส (Mars)
ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการสงคราม เทพบุตรของซูสเทพบดี เกิดกับเจ้าแม่ฮีรา
ได้เป็นชู้สู่หากับเทวีอโฟรไดที จนให้ประสูติบุตรสองธิดาหนึ่งรวมเป็นสาม
มีนามตามลำดับว่า อีรอส (Eros) หรือ คิวพิด (Cupid) แอนติรอส (Anteros) และ เฮอร์ไมโอนี (Hermione)
หรือ ฮาร์โมเนีย (Harmonia) นางเฮอร์ไมโอนีนั้นได้วิวาห์กับ
แคดมัส (Cadmus) ผู้สร้างเมืองธีบส์ ซึ่งเป็นพี่ของนางยุโรปา
ผู้ถูกซูสลักพาไปเป็นคู่ร่วมอภิรมย์
เรื่องราวความรักของเทวีแห่งความงามและความรักอโฟร์ไดที่ไม่หมดแต่เพียงเท่านี้
เจ้าแม่เที่ยวหว่านเสน่ห์ไปทั่วไม่ว่าเทพหรือมนุษย์ อาทิเช่น การมีจิตปฏิพัทธ์เสน่หากับเทพเฮอร์มีส
จนเกิดมีโอรสองค์หนึ่งนามว่า เฮอร์มาโฟร์ดิทัส (Hermahroditus) ในด้านของมนุษย์เทวีอโฟร์ไดที่ยังเคยแอบไปมีจิตพิศวาสกับบุรุษเดินดิน
เช่น ไปชอบพอกับเจ้าชายชาวโทรยัน นามว่า แอนคิซีส (Anchises) จนมีโอรสครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ออกมานามว่า เอนิแอส (Aenias) ผู้เป็นต้นตระกลูของชาวโรมันทั้งหมด และที่อื้อฉาวฮือฮามากที่สุดได้แก่
การไปแอบรักสุดหล่อแห่งยุคคือ อโดนิส
ในกาลวันหนึ่ง เจ้าแม่อโฟรไดที่เล่นหัวหยอกเอินอยู่กับอีรอส
บังเอิญถูกศรซึ่งอีรอสถืออยู่สะกิดเอาที่อุระ ถึงแม้ว่าจะเป็นแผลเพียงเล็กน้อย
แต่ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้เจ้าแม่ตกอยู่ในอำนาจพิษศรของบุตรได้
ยังมิทันที่แผลจะเหือดหาย เจ้าแม่ได้พบกับ อโดนิส (Adonis) มานพหนุ่มพเนจรอยู่ในราวป่า
ให้บังเกิดความพิสมัยจนไม่อาจระงับยับยั้งอยู่ในสวรรค์ได้
เจ้าแม่จึงลงมาจากสวรรค์มาพเนจรตามอโดนิส หมายที่จะได้ใกล้ชิดซึ่งกันและกันไม่ว่าจะไปทางไหนเจ้าแม่ก็จะตามไปด้วย
เทวีอโฟรไดที่หลงใหลและเป็นห่วงอโดนิสจนไม่เป็นอันระลึกถึงสถานแห่งหนึ่งแห่งใดที่เคยโปรดเที่ยวติดตามอโดนิสไปในราวป่าตลอดเวลาเพื่อคอยตักเตือน
และกำชับอโดนิสในเวลาล่าสัตว์ มิให้หักหาญเสี่ยงอันตรายมากนัก ให้หลีกเลี่ยงสัตว์ใหญ่
ล่าแต่สัตว์เล็กชนิดที่พอจะล่าได้เท่านั้น ตลอดเวลาที่เฝ้าติดตามเจ้าแม่พะเน้าพะนอเอาใจอโดนิสด้วยประการทั้งปวง
แต่ความรักของเจ้าแม่ที่มีต่ออโดนิสเป็นความรักข้างเดียว เจ้าหนุ่มหาได้รักตอบเจ้าแม่ไม่
ชะรอยจะเป็นเพราะอีรอสมิได้แผลงศรรักเอากับเจ้าหนุ่มดอกกระมัง
ด้วยเหตุนี้อโดนิสจึงไม่แยแสต่อคำกำชับตักเตือนของเจ้าแม่
คงเที่ยวล่าสัตว์ใหญ่น้อยเรื่อยไปตามใจชอบ วันหนึ่งเจ้าแม่อโฟรไดที่มีธุระต้องจากไป
จึงทรงเทพยานเทียมหงส์เหินเหาะไปในนภากาศ ฝ่ายอโดนิสพบหมูป่าแสนดุร้ายเข้าตัวหนึ่ง
(บางตำนานเล่าว่าหมูป่าตัวนี้ เกิดจากเสกจำแลงของ เทพเอเรส
เนื่องจากหึงหวงความรักที่เทวีอโฟรไดที่มีให้แก่อโดนิส) และตามล่ามันไปจนหมูป่าจนมุมแล้ว
อโดนิสก็ซัดหอกไปถูกหมูป่า แต่หอกพลาดที่สำคัญ
หมูป่าได้รับความเจ็บปวดจึงเพิ่มความดุร้ายยิ่งขึ้น จึงรี่เข้าขวิดอโดนิสล้มลงถึงแก่ความตาย
เจ้าแม่อโฟรไดที่ได้สดับเสียงร้องโอดโอยของอโดนิสในกลางหาวผินพักตร์มาเห็นดังนั้น
จึงชักรถเทียมหงส์กลับลงมายังพื้นปฐพี
และลงจากรถเข้าจุมพิตอโดนิสซึ่งกำลังจะสิ้นใจ
ครั้นแล้วเจ้าแม่ก็ครวญคร่ำรำพันพิลาปพิไร ด้วยสุดแสนอาลับรัก
แถมทึ้งเกศาข้อนทรวงทำอาการต่างๆ ตามวิสัยผู้ที่คลุ้มคลั่ง
เจ้าแม่รำพันตัดพ้อเทวีครองชะตากรรมที่ด่วนเด็ดชีวิตผู้เป็นที่รักของเจ้าแม่ให้พรากจากไป
ประดุจควักดวงเนตรออกจากเจ้าแม่ก็ไม่ปาน พอค่อยหายโศกแล้วเจ้าแม่จึงเอื้อนโอษฐ์ออกปณิธานว่า
"ถึงมาตรว่าดังนั้นก็อย่าหมายเลยว่า ผู้เป็นที่รักแห่งข้าจะต้องอยู่ในยมโลกตลอดกาล
หยาดโลหิตของอโดนิสแก้วตาข้าจงกลายเป็นบุปผชาติชนิดหนึ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ความโศกของข้าให้ข้าได้ระลึกถึงวาระเศร้าสลดครั้งนี้เป็นประจำปีเถิด"
เมื่ออกปณิธานดังนั้นแล้ว เจ้าแม่ก็พรมน้ำต้อยเกสรอันศักดิ์สิทธิ์ลงบนหยาดโลหิตของอโดนิส
บัดดลก็มีพันธุ์ไม้ดอกสีแดงเลือดดังสีทับทิมผุดขึ้น ดังมีชื่อเรียกกัน สืบๆ
มาว่าดอกอโดนิส หรือ ดอกเออะเนมโมนิ (Anemone) ก็เรียก แปลว่า ดอกตามลม
(บางตำนานว่าก็คือ ดอกกุหลาบนั่นเอง) เนื่องจากธรรมชาติซึ่งกล่าวกันว่า
ลมทำให้ดอกไม้นี้แย้มบานและภายหลังก็พัดกลีบให้ร่วงหล่นไป มีฤดูกาลอยู่ได้เพียงชั่ว
3-4 เดือนเท่านั้น
ว่ากันว่าแรกเริ่มเดิมทีก่อนที่จะกลายเป็นเทวีแห่งความงามและความรักนั้น
อโฟร์ไดที่เป็นเทวีแห่งความสมบูรณ์มาก่อน เมืองที่นับถือเจ้าแม่มากที่สุดได้แก่
เมืองปาฟอสในไซปรัสและเมืองไซธีราในเกาะครีต นอกจากนั้นวิหารที่เล่าลือว่าโอ่อ่าที่สุดของซีกโลกทางด้านตะวันออกได้แก่
วิหารที่เมืองคนิดุส ในรัฐแคเรีย (Caria) เมื่อเดินทางมาถึงกรีกก็มีผู้ศรัทธาเชื่อถือสร้างวิหารใหญ่ให้หลายแห่ง
รวมทั้งกรุงเอเธนส์ซึ่งมีเทวีเอเธน่าเป็นเทพอุปถัมภ์อยู่บนเนินอโครโปลิส
อโฟรไดที่เป็นเทวีที่ชาวกรีกและโรมันโบราณถือว่าเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์มากที่สุด
เนื่องจากเจ้าแม่เป็นเทวีครองความรักและความงาม และความงามกับความรักก็เป็นสิ่งที่จับใจคนมากกว่าเรื่องอื่นๆ
ด้วยเหตุนี้เจ้าแม่จึงมักเป็นที่เทิดทูนและกล่าวขวัญในวิจิตรศิลป์และวรรณคดีต่างๆ
นอกจากนั้นชาวกรีกและโรมันยังถือว่าเจ้าแม่เป็นเทวีครองความมีลูกดกและการให้กำเนิดทารกอีกด้วย
มีคติความเชื่อประการหนึ่งซึ่งอย่างน้อยก็ยังพูดกันติดปากชาวตะวันตกมาจนถึง
ปัจจุบันนี้ว่า ทารกถือกำเนิดเพราะนกกระสานำมา คตินี้สืบเนื่องจากข้อยึดถือของชาวกรีกและโรมันมาแต่เดิมเหมือนกัน
ในเทพปกรณัมกล่าวว่า นกกระสาเป็นนกประกอบบารมีของอโฟรไดที่ คราวใดมีนกกระสาผัวเมียไปทำรังอยู่บนยอดหลังคาบ้านใด
ก็หมายความว่าเจ้าแม่อโฟรไดที่โปรดให้ครอบครัวในบ้านนั้นมีลูกและจะให้ประสบความรุ่งเรือง
ในยุโรปโดยเฉพาะภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ถือนกกระสาประหนึ่งที่เคารพทีเดียว ในเยอรมันและเนเธอร์แลนด์ถือว่านกกระสาเป็นนกที่นำโชคลาภมาให้
ดังนั้นชาวเยอรมันและวิลันดาจึงยินดีที่จะให้นกกระสามาทำรังบนหลังคาบ้านเสมอ ยิ่งอาศัยอยู่นานเท่าใด
ก็ยิ่งเป็นมงคลแก่บ้านนานเท่านั้น
นกกระสาจึงเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่าวสำคัญตามเทพนิยาย นิทาน ชาวบ้าน
และนิทานเทียบสุภาษิตต่างๆ ของฝรั่งด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้
อนึ่งชาวยุโรปทั่วไปเขาเชื่อกันมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษด้วยว่า
ในคราวที่บ้านหนึ่งบ้านใดกำลังจะมีเด็ก เจ้าแม่อโฟรไดที่จะให้นกกระสามาบินวนเวียนเหนือบ้านนั้น
คตินี้กินความไปถึงว่า ถ้านกกระสาบินวนเหนือบ้านที่กำลังจะมีเด็กเกิด
เด็กนั้นจะคลอดออกจากครรภ์โดยง่ายและอยู่รอดด้วย แต่คตินี้ในที่สุดก็เป็นเพียงข้ออ้างที่พ่อแม่จะใช้ตอบลูกตอนโตๆ
เมื่อถูกถามว่าน้องเล็กเกิดมาแต่ไหน หรือตัวเกิดจากอะไรเท่านั้น
เทวีอโฟร์ไดที่มีต้นเมอร์เทิลเป็นพฤกษาประจำองค์ สัตว์เลี้ยงของเจ้าแม่เป็นนก
บ้างว่าเป็นนกเขา นกกระจอกบ้าง หงส์บ้าง ตามแต่กวีคนไหนจะชอบใจยกให้เป็น
สัญลักษณ์ของเทวีแห่งความงามและความรัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น