ตำนานกรีกโบราณเทพที่เทพผู้เป็นใหญ่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า โปเซดอน
อีกองค์หนึ่งก็คือ ฮาเดส
(หรือชาวโรมัน เรียกว่า พลูโต)
แดนบาดาลหรือยมโลกและคนตายต่างก็อยู่ในความปกครองของเทพองค์นี้ทั้งหมด
คำว่า "พลูโต" นี้มีความหมายว่า เทพแห่งทรัพย์ เพราะถือกันว่า
นอกจากยมโลกแลัว ฮาเดสยังครองมวลธาตุล้ำค่าใต้พื้นพิภพอีกด้วย บางทีจึงมีชือว่า
ดีส (Dis) แปล ตรงตัวว่า
ทรัพย์ บางแห่งกล่าวว่า ฮาเดสครองยมโลกและคนตายเท่านั้น
ส่วนเทพผู้ครองความตายนั้นมี อีกองค์หนึ่ง เรียกว่า ธานาทอส (Thanatos)ในภาษากรีก หรือ ออร์คัส (Orcus) ในภาษาลาตินเป็นคู่กันกับ
ฮิปนอส (Hipnos- เทพประจำ ความหลับ) แม้ว่าเทพฮาเดสอยู่ในเหล่าเทพแห่งเขาโอลิมปัส
แต่ก็ไม่ค่อยจะได้ออกจากยมโลก ขึ้นไปยังเขาโอลิมปัสเท่าไหร่นัก เธอ
เองก็ไม่ใช่แขกที่ใครๆ ยินดีต้อนรับ เพราะแม้แต่เทพเจ้าด้วยกันเองยังกลัว
เนื่องจากเธอปราศจากความเวทนาสงสาร แต่กอปรด้วย ความยุติธรรม
เธอมีหมวกวิเศษใบหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้สวมหายตัวได้
ภายในยมโลกนั้น ชาวกรีกในสมัยโบราณเชื่อว่า ดวงวิญญาณของคนทุกคน
เมื่อสิ้นชีวิตแล้วจะถูกพาไปรับคำพิพากษาของคณะเทพสภาในยมโลก
ซึ่งอยู่ในชั้นบาดาลใต้พื้นพิภพ เป็นอาณาจักรอยู่ในความปกครอง ของเทพฮาเดส
การพาดวงวิญญาณคนตายลงไปยังบาดาลเป็นหน้าที่ของเฮอร์เมส เทพพนักงานสื่อสารของซูส
ซึ่งตำแหน่งของยมโลกนี้ บ้างก็ว่าอยู่ใต้สถานที่เร้นลับของโลก บ้างก็ว่าทางลงอยู่ที่ขอบพิภพโดยข้ามมหาสมุทรไป
ส่วนกวีในขั้นหลังๆ จึงบอกว่าทางลงมีหลายทางนั้นเอง ซึ่งทางลงนั้นนำไปถึงแม่น้ำแห่งความวิปโยค
ชื่อว่า แอกเครอน (Acheron) แม่น้ำนี้ไหลไปสู่แม่น้ำอีกสายหนึ่งเรียกว่าแม่น้ำแห่งความกำสรวล
ชื่อ โคไซทัส (Cocytus) ตรงที่แม่น้ำทั้งสองสายนี้บรรจบกัน
มีคนเรือจ้างแก่ ๆ คนหนึ่งชื่อว่า เครอน (Charon) คอยรับวิญญาณข้ามฟากไปสู่ยังประตูแข็งแกร่งดังเหล็กเพชร
ซึ่งเป็นทางเข้าตรุลึกลงไปเรียกว่า ทาร์ทารัส (Tartarus) ส่วนเขตชั้นนอกที่ผ่านมาแล้วเรียกว่า
เอรีบัส (Erebus) เครอนจะรับลงเรือแต่เฉพาะดวงวิญญาณที่มีเงินเบิกทางติดปากไปและได้ผ่านพิธีฝังเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
อันนี้เห็นจะเป็นเหตุของชาวกรีกสำหรับประเพณีเอาเงินใส่ปากคนตาย ฝัง
ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำตามๆ กันอยู่หลายชาติ
ที่หน้าประตูทางเข้าตรุทาร์ทะรัส มีสุนัขเฝ้าตัวหนึ่งเรียกว่า
เซอร์บิรัส (Cerberus)
มีหัวสามหัว หางเป็นหางมังกร มันจะยอมให้วิญญาณของคนทุกคนเข้าประตู
แต่จะไม่ยอมให้กลับออกมาเป็นอันขาด เมื่อไปถึงประตูนี้ วิญญาณแต่ละดวงจะถูกพาไปรับคำพิพากษาของสามเทพสุภา
คือ แรดาแมนธัส ไมนอส และ ออร์คัส วิญญาณที่ชั่วร้ายจะถูกพิพากษาให้ต้องทน ทุกข์ทรมานอยู่ในตรุทาร์ทะรัสไปชั่วกัลป์
ส่วนวิญญาณที่ดีจะได้รับคำพิพากษาให้พาไปอยู่ยังทุ่งอีลิเซียน แดนสุขาวดีของกรีก
นอกจากแม่น้ำแอกเครอนกับโคไซทัสแล้ว ยังมีแม่น้ำอื่นอีกสามสายคั่นบาดาลไว้ต่างหากจากพิภพเบื้องบน
สายหนึ่งมีชื่อว่า เฟลจีธอน (Phlegethon) เป็นแม่น้ำไฟ สายที่สองชื่อ สติกส์ ( Styx
) เป็นแม่น้ำสาบานของเทพทั้งปวง สายที่สามชื่อ ลีธี (Lethe) แม่น้ำแห่งความลืมหรือแม่น้ำล้างความทรงจำ สำหรับให้ดวงวิญญาณในตรุทาร์ทะรัสดื่มเพื่อล้างความจำในชาติก่อนให้หมด
อนึ่ง นอกจากคณะเทพสุภาแห่งยมโลก
ยังมีคณะเทวีทัณฑกรอีกคณะหนึ่งประจำอยู่ในยมโลกเช่น กัน เรียกว่า อิรินนีอิส (Erinyes) ทำหน้าที่ลงทัณฑ์แก่ดวงวิญญาณของผู้ประพฤติผิดทำนองคลองธรรมในมนุษย์โลก
ในชั้นเดิมเทวีทัณฑกรคณะนี้มีหลายองค์แต่ในที่สุดมีเหลือที่กล่าวนามเพียงสาม คือ
ไทสิโฟนี (Tisiphone) มีกีรา (Megaera)และ อเล็กโต (Alecto) แต่ละองค์มีรูปลักษณะดุร้ายน่ากลัว มีงูพันเศียรยั้วเยี้ย ใครๆ ที่ทำบาปกรรมไว้ในโลกมนุษย์จะหนีทัณฑกรรมที่เทวีทั้งสามพึงลงเอาไม่พ้นไปได้เลย
คำอังกฤษเรียกเทวีทั้งสามนี้โดยรวมๆ กันไปว่า The Furies
เนื่องด้วยอุปนิสัยของเทพฮาเดสจ้าวแดนบาดาล ออกจะเย็นชาแข็งกร้าว
ปราศจากความเวทนาสงสารให้แก่ผู้ใด แต่เต็มไปด้วยความยุติธรรมทุกขณะ เช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้ท้าวเธอยากจะหาสตรีมาเป็นชายาครองบัลลังก์ปรโลกคู่กันได้เลย
ดังนั้น เมื่อท้าวเธอเสด็จขึ้นมาบนพื้นพิภพในวันหนึ่ง และประสบพบพานโฉมงามนาม
เพอร์เซโฟนี (Persephone)
ธิดาองค์เดียวของเจ้าแม่โพสพเทวี ดีมีเตอร์ เข้าให้
ฮาเดสลืมเลือนไปหมดสิ้นว่า อนงค์นางนี้ที่แท้จริงคือหลานในไส้ของตน เพราะว่า
ดีมิเตอร์เทวีเป็นน้องนางของพระองค์นั่นเอง จ้าวแห่งแดนบาดาลจึงไม่รอช้าฉุดคร่าเอาตัวเพอร์เซโฟนีลงไปสู่ดินแดนใต้พิภพ
เพื่อครองคู่เป็นราชินีปรโลกด้วยความมิเต็มใจของนาง
ครั้นเมื่อซูสทรงตัดสินความให้เทพฮาเดสส่งเพอร์เซโฟนีคืนแก่พระมารดา
ฮาเดสก็ใช้เล่ห์เพทุบายลวงให้นางต้องมาหาท้าวเธอปีละ 3 เดือนทุกปีไป
ดังนั้นในปึหนึ่งๆ ฮาเดสจึงเป็นเทพพ่อม่ายอยู่ถึง 9 เดือน มีเวลาได้อยู่มเหสีเพียงปีละ
3 เดือน เท่านั้น
แต่ทั้งที่ต้องประทับอยู่อย่างเดียวดายนานถึงปึละ 9 เดือน
เทพฮาเดสก็พิสูจน์องค์เองว่าเป็นสวามีที่ซื่อสัตย์พอสมควร ตลอดเรื่องราวประวัติของท้าวเธอ
ปรากฏว่าฮาเดสมีเรื่องนอกใจชายาเพียง 2 ครั้งเท่านั้น
ครั้งหนึ่งได้แก่ ทรงหลงเสน่ห์ความน่ารักของนางอัปสรนามว่า มินธี (Minthe) แต่ทว่าความรักนี้มิยั่งยืน
ด้วยเหตุที่พระแม่ยายดีมิเตอร์เทวีทรงร้ายเหลือ ทั้งๆ ที่ไม่ชอบหน้าฮาเดสเท่าใดนัก
แต่เมื่อท้าวเธอทำท่าจะนอกใจธิดาของตนเข้าให้
เจ้าแม่ก็พิโรธโกรธเกรี้ยวจนกระทั่งไล่กระทืบมินธีนางอัปสรผู้น่าสงสารตายคาบาทของเจ้าแม่
จ้าวแดนบาดาลเวทนาสงสารนางอัปสรน้อยนั้น จึงเปลึ่ยนร่างของนางให้กลายเป็นพืชชนิดหนึ่งมีกลิ่นหอม
และได้กลายเป็นพืชประจำพระองค์ตลอดมา
ส่วนการนอกใจครั้งที่สองนั้นได้แก่ ทรงรักชอบพอกับนาง เลอซี (Leuce) ธิดาของอุทกเทพโอซียานุส
แต่นางเลอซีมีบุญน้อย เพราะป่วยตายเสียก่อนที่จะตายด้วยมือของเจ้าแม่ดีมิเตอร์หรือเพอร์เซโฟนีเทวี
หลังจากที่นางตายไปแล้วก็กลายร่างเป็นต้นพ็อปลาร์ขาว
ซึ่งกลายเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในการทำพิธีการลึกลับ ณ เมืองอีเลอซีส แต่ไม้ใหญ่อันเป็นพฤกษชาติประจำองค์ของเทพฮาเดสนั้นกลับเป็นต้นสนเศร้า
(Cypress) ส่วนดอกไม้ที่กำเนิดจากมินธีแล้ว
ยังได้แก่ดอกขาวบริสุทธิ์ของนาร์ซิสซัส
ผู้คนในสมัยโบราณจะถวายสักการะแด่เทพฮาเดสด้วยแกะดำ ทำให้กลายเป็นพิธีกรรมที่เร้นลับสืบมาที่จะบูชายัญแด่เทพแห่งมรณะหรือเทพแห่งความชั่วร้ายอื่นๆ
ด้วยแพะหรือแกะสีดำเช่นเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น